8 สิ่งที่ควรทำ เมื่อดูแลผู้สูงอายุที่ติดเตียง

การนอนติดเตียงของผู้สูงอายุ เกิดได้จากหลายกรณี เช่น โรคภัย อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ช้ากว่าปกติจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อุบัติเหตุ หรือการผ่าตัดใหญ่ เป็นต้น การที่ผู้สูงอายุมีภาวะนอนติดเตียงนั้น อาจส่งผลข้างเคียงที่นำพาไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้น ครอบครัวหรือผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องนะครับ

#GenGrand ขอลิสต์ 8 สิ่งที่ควรทำ เมื่อต้องดูแลผู้สูงอายุติดเตียง ดังนี้

  1. พลิกตัวผู้ป่วยทุก ๆ 2 ชั่วโมง พร้อมเปลี่ยนท่าในการนอนใหม่ เช่น นอนหงาย นอนตะแคงสลับกันไป โดยประเมินจากสภาพผิวหนัง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดแผลกดทับจากการนอนนิ่ง ๆ เป็นเวลานาน ซึ่งทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อ และอาจรุนแรงถึงชีวิตได้
    Tips : ควรมีอุปกรณ์เสริมเพื่อลดแรงกดทับ เช่น ฟองน้ำ ที่นอนลม หมอนผ้านุ่ม ๆ หรือเจลรองปุ่มกระดูก
  2. ทำความสะอาดผิวหนังของผู้สูงอายุติดเตียง ให้ไม่เปียก อับชื้น เพื่อลดโอกาสการเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค การเกิดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ และทำให้เสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับจากความชื้น
    Tips: เลือกใช้แผ่นรองซับที่สามารถแห้งได้เร็ว รองรับของเหลวได้ดี และไม่ไหลย้อนกลับ
  3. ปรับเตียง 45-90 องศา และใช้หมอนช่วยดันหลังทรงตัวให้สมดุล เพื่อให้ผู้สูงอายุที่นอนติดเตียงสามารถรับประทานอาหารได้สะดวก ลดความเสี่ยงในการสำลักที่อาจทำให้ปอดเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ เพราะเศษอาหารหลุดเข้าไปที่หลอดลม หรือการที่เศษอาหารชิ้นใหญ่เข้าไปอุดหลอดลม
    Tips:  เลือกใช้เตียงที่สามารถปรับองศาได้ตามมุมที่ต้องการ
  4. ปรับอาหาร (Dietary modification) เลือกอาหารที่ผู้สูงอายุสามารถกลืนได้ง่าย โดยเริ่มจากอาหารที่ข้น ในปริมาณที่น้อยก่อน เช่น โจ๊ก ซุป เป็นต้น และไม่รีบร้อนในการป้อนอากหาร เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนมากมักมีปัญหาภาวะกลืนลำบาก ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเสื่อมของกล้ามเนื้อปากและลำคอ การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด หรือโรคประจำตัวของผู้สูงอายุ เป็นต้น ส่งผลให้อาจเกิดการสำลักขณะรับประทานอาหารได้
    Tips:  ให้ผู้สูงอายุก้มคอเวลากลืนอาหารที่ป้อน ห้ามแหงนคอไปข้างหลัง
  5. เปลี่ยนสายสวนปัสสาวะให้ผู้ป่วยเป็นประจำทุก 2 – 4 สัปดาห์ และทำความสะอาดสายด้วยน้ำสบู่อ่อน ๆ ทุกครั้ง หากพบว่าปัสสาวะของผู้ป่วยมีสีขุ่น ข้น หรือปัสสาวะไม่ออก ควรรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
  6. พาไปพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อลดอาการปากแห้ง ผู้ที่บ้วนปากไม่ได้ควรเช็ดทำความสะอาดช่องปากและลิ้นหลังอาหารทุกมื้อ ดูแลเอาอาหารที่ค้างภายในช่องปากออกให้หมด
  7. จัดห้องนอนให้เหมาะสมกับการใช้งาน สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ทำความสะอาดให้อากาศถ่ายเทอยู่เสมอ
  8. ใส่ใจ รับฟัง และหมั่นหากิจกรรมต่าง ๆ มาทำร่วมกัน เพื่อผ่อนคลายและลดความเศร้าของผู้สูงอายุที่ติดเตียง เช่น การดูโทรทัศน์ ร้องเพลงคาราโอเกะ เป็นต้น

Gengrand หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่าน ไม่มากก็น้อยนะครับ 😊

 

ขอบคุณที่มา:

  • www.paolohospital.com/th-TH/phahol/Article/Details/บทความ-ผู้สูงอายุ/5-สิ่งต้องระวัง-เมื่อผู้สูงอายุที่บ้านนอนติดเตียง
  • https://www.paramountbed.co.th/news/contents
  • www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/ondemand/ภาวะการกลืนลำบากในผู้ส/