9 วิธีดูแลผู้สูงอายุให้สุขภาพดี

         ผู้สูงอายุ นอกจากอายุที่มากขึ้นแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย และจิตใจอีกด้วย การทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย ที่เริ่มถดถอยลง ร่างกายอ่อนแอลง ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ อีกทั้งโรคภัยต่าง ๆ ก็ตามมา หลักการดูแลผู้สูงอายุ ได้แก่

1.การเลือกทานอาหาร เนื่องจากฟันผู้สูงอายุไม่แข็งแรง และมักมีปัญหาฟันหลุด ร่วง ทำให้การเคี้ยวอาหารเป็นไปได้ลำบาก เคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด ดังนั้นอาหารของผู้สูงอายุ ควรมีความอ่อนและนุ่ม และควรมีสารอาหารที่เพียงพอ สะอาดและถูกสุขลักษณะอาหาร

2.การออกกำลังกาย เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุที่ลดลง กระดูกที่เปราะบางขึ้น การออกกำลังกายในผู้สูงอายุควรระมัดระวังมากขึ้น ออกกำลังกายแต่พอดี และควรเลือกอุปกรณ์ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ไม่ควรหักโหมจนเกินไปเพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

3. การออกไปสูดรับอากาศที่บริสุทธิ์ ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคได้ อาจเป็นสวนสาธารณะใกล้ๆ สถานที่ท่องเที่ยว หรือการปรับภูมิทัศน์ภายในบ้านให้ปลอดโปร่ง สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก

4. การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ การหกล้ม ลื่นล้มถือเป็นอุบัติเหตุที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ มากกว่าอุบัติเหตุชนิดอื่น ๆ ซึ่งการหกล้มอาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา กระดูกแตกหัก เลือดคั่งในสมอง บางรายอาจถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิต สาเหตุมักเกิดจากการทรงตัวที่ไม่ดี ขาอ่อนแรง มีอาการหน้ามืด  การมีรถเข็นช่วยพยุงเดินหรือไม้เท้าคุณภาพติดตัวไว้ ก็เป็นส่วนช่วยป้องกันการอุบัติเหตุได้นะครับ

5. หลีกเลี่ยงสิ่งอบายมุขที่บั่นทอนสุขภาพ ได้แก่ บุหรี่และสุรา จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรค หรือลดความรุนแรงของโรคได้ ทั้งลดค่าใช้จ่ายในการรักษา และยังช่วยป้องกันปัญหาอุบัติเหตุ อาชญากรรมต่างๆ

6. ควบคุมน้ำหนัก โดยควบคุมอาหารและออกกำลังกายจะช่วยทำให้เกิดความคล่องตัว ลดปัญหาการหกล้ม และความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

7. สังเกตอาการหรือการเปลี่ยนแปลงของร่างกายของผู้สูงอายุ  เช่น คลำได้ก้อน โดยเฉพาะก้อนโตเร็ว แผลเรื้อรัง มีปัญหาการกลืนอาหาร กลืนติด กลืนลำบาก ท้องอืดเรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไอเรื้อรัง ไข้เรื้อรัง เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอกหรือถ่ายอุจจาระผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์

8. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม การซื้อยากินเอง การใช้ยาเดิมที่เก็บไว้มาใช้รักษาอาการที่เกิดใหม่ หรือรับยาจากผู้อื่นมาใช้ เนื่องจากวัยนี้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตในการกำจัดยาลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดพิษจากยาหรือผลข้างเคียงอาจมีแนวโน้มรุนแรง

9. ตรวจสุขภาพประจำปี  แนะนำให้ตรวจสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี หรืออย่างน้อยทุก 3 ปี โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแข็ง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ตรวจหาโรคมะเร็งที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และยังมีตรวจการมองเห็น การได้ยิน

ที่มา

  1. https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=736
  2. https://www.bangkokhospital.com/content/care-for-the-elderly
  3. https://phyathai3hospital.com/home/วิธีดูแลผู้สูงอายุ/
  4. www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/10วิธีการดูแลผู้สูงวัย