กระดูกสันหลังเสื่อมในผู้สูงอายุ ปัญหาใกล้ตัวที่ลูกๆ ต้องเตรียมรับมือ

กระดูกสันหลังเสื่อมในผู้สูงอายุ

โรคกระดูกสันหลังเสื่อมในผู้สูงอายุ ปัญหาใกล้ตัวที่ลูกๆ ต้องเตรียมรับมือ

              เคยสังเกตกันไหมครับว่า คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้สูงอายุภายในบ้าน มักบ่นปวดเมื่อยและบีบนวดตัวเอง บริเวณจุดต่าง ๆ เช่น ลำตัว สะโพก หลัง ขา หรือน่อง อยู่บ่อย ๆ ประกอบกับมีอาการตะคริวและชาที่ข้อเท้าหรือนิ้วเท้าร่วมด้วย อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ของ โรคกระดูกสันหลังเสื่อมในผู้สูงอายุ

              ในปัจจุบันพบว่าปัญหากระดูกสันหลังเสื่อมในผู้สูงอายุถูกพบมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้สูงอายุส่วนมากมักมีอาการปวดหลังจากสภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม ด้วยปัจจัยที่เกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลโดยตรงกับอาการของโรคดังกล่าว และการดูแลรักษาอย่างผิดวิธี เช่น การนวดกดจุด อาจจะยิ่งทำให้อาการแย่ลงไปอีก วันนี้ GenGrand จึงอยากชวนคุณลูก ๆ มาทำความรู้จักกับโรคกระดูกสันหลังเสื่อม เพื่อให้เตรียมตัวรับมือหากต้องเผชิญกับปัญหาใกล้ตัวนี้กันครับ 🙂

สาเหตุของปัญหากระดูกสันหลังเสื่อมในผู้สูงอายุ

              สาเหตุพื้นฐานก็มาจากการเสื่อมสภาพตามวัย ซึ่งโดยปกติจะพบเจอในช่วงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นในทุกคน หากดูแลรักษาตัวเป็นอย่างดีก็อาจทำให้อาการของโรคไม่ร้ายแรงมากนัก โดยปัญหากระดูกสันหลังเสื่อมในผู้สูงอายุนั้น มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผ่านมาของผู้สูงอายุ การใช้ชีวิตแบบตรากตรำทำงานหนัก อาทิ การยกของหนักอยู่เป็นประจำ หรือ เป็นพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานทั้งวันติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือเป็นผู้มีบุคลิกหลังค่อมมาโดยตลอด ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ได้เร็วกว่าปกติ และในภาวะที่รุนแรงกว่าอาการทั่วไป

จะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังอยู่ในภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม

              หากไม่ต้องการให้ปัญหากระดูกสันหลังเสื่อมในผู้สูงอายุกลายเป็นปัญหาลุกลามใหญ่โตเกินแก้ไข ลูก ๆ หลาน ๆ หรือตัวผู้สูงอายุเองควรเริ่มสังเกตร่างกาย ดังนี้

  • เมื่อใช้ร่างกาย ขยับตัว เพื่อทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ และเมื่อนั่งนาน ๆ หรือก้ม ๆ เงย ๆ แล้วรู้สึกปวดคอ หลัง บั้นเอว
  • รู้สึกขยับตัวยาก ร่างกายไม่ยืดหยุ่น ไม่สามารถยืดกล้ามเนื้อได้สุด
  • มือ แขน และเท้า เริ่มมีอาการเหน็บชาอยู่บ่อย ๆ กล้ามเนื้ออ่อนแรงหยิบจับอะไรไม่หนักแน่นเหมือนเคย ลามไปจนปวดศีรษะในบางที
  • ประสิทธิภาพในการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระลดน้อยลง
  • เดินได้ไม่มั่นคง เนื่องจากเส้นประสาทถูกเบียดหรือกดทับ ลักษณะเหมือนเด็กเล็กที่กำลังหัดเดิน

อาการต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีส่วนในการช่วยสังเกตตัวเองและรีบแจ้งให้คนในครอบครัวทราบทันทีเมื่อมีอาการ

วิธีการดูแลเมื่อมีผู้สูงอายุในบ้านประสบปัญหากระดูกสันหลังเสื่อม

              อาจดูเหมือนปัญหากระดูกสันหลังเสื่อมในผู้สูงอายุเป็นปัญหาใหญ่ แต่เอาเข้าจริงแล้ว หากสมาชิกในบ้านช่วยกันดูแล ปัญหานี้ก็จะผ่านไปได้โดยง่าย เริ่มจากการประคบร้อนหรือเย็นบริเวณที่ปวด หมั่นกายภาพบำบัด ใช้อุปกรณ์เสริมช่วยรองรับกระดูกสันหลัง หรือพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธี ซึ่งในปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้านั้นสามารถวิเคราะห์และรักษาได้อย่างแม่นยำ จากชุดข้อมูลทางการแพทย์ที่มีการประเมินจากการตอบคำถามอาการ การทดสอบทางกายภาพ ที่จะให้คุณพ่อ คุณแม่ลองทำท่าทางเพื่อดูความผิดปกติ และส่ง X-RAY หรือสามารถหาจุดที่มีอาการผิดปกติแบบละเอียดด้วยการทำ MRI โดยเมื่อผลตรวจออกมาแล้ว ทางแพทย์ก็จะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับอาการของแต่ละท่าน ไม่แนะนำให้ซื้อยาทานเอง เพราะผู้สูงอายุเป็นกลุ่มวัยที่ร่างกายเริ่มเสื่อมสมรรถภาพ อาการของโรคต่าง ๆ ควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างใกล้ชิดแม้เป็นปัญหาที่ไม่ใหญ่มาก

              อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การทำให้คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้สูงวัยในบ้านให้ความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต งดการยกของหนัก เว้นจากการก้ม ๆ เงย ๆ หรือนั่งท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน และหันมาออกกำลังกายเสริมด้วยเทคนิค Williams Exercise จะช่วยเสริมสร้างกระดูกสันหลังให้แข็งแรง และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

              มาถึงตรงนี้พวกเราคงพอตระหนักได้ว่า ปัญหากระดูกสันหลังเสื่อมในผู้สูงอายุ นั้นไม่ไกลตัวเลย อย่าลืมหันมาใส่ใจและหมั่นสังเกตอาการ เพื่อประคับประคองไม่ให้โรคนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของคนที่เรารักกันนะครับ เราช่วยกันป้องกันได้ รักษาให้หายขาดได้ เพียงได้รับการรักษาที่ถูกวิธี และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 😊